กรมอุตุนิยมวิทยาต้องบันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ หลังจากอุณหภูมิของ “แม่ฮ่องสอน” เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2559 ทำลายสถิติจังหวัดร้อนที่สุดในประเทศไทยรอบ 65 ปีที่ผ่านมา…ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญยืนยันถึงผลกระทบภาวะโลกร้อนอย่างเป็น รูปธรรม!?!
“แม่ฮ่องสอนถูกบันทึกว่าทำลายสถิติอุณหภูมิสูงสุดในไทยที่ 44.6 องศาฯ เนื่องจากเป็นพื้นที่หุบเขามีภูเขาสูงล้อมรอบ แต่เดือนเมษายนปีนี้กรุงเทพฯ ไม่ร้อนเท่าไร เฉลี่ยเพียง 39 องศาฯเท่านั้น หลังจากนี้ไปช่วงเดือนพฤษภาคมจะเริ่มมีฝนในบางพื้นที่ โดยเฉพาะอีสานและภาคกลางตอนล่างกับภาคใต้อากาศไม่ร้อนนัก ยกเว้นภาคกลางตอนบนกับภาคเหนือยังมีอากาศร้อนจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ปีนี้สังเกตได้ว่า พายุฤดูร้อนค่อนข้างรุนแรง มีลูกเห็บตกในหลายพื้นที่ เพราะเมื่ออากาศร้อนจัดสะสมมานาน พายุเข้ามาเกิดการปะทะของอุณหภูมิที่แตกต่างเป็นฝนฟ้าคะนอง”
“ดูจากแผนที่แบบจำลองเห็นชัดว่า อุณหภูมิเฉลี่ยปี 2558 มีช่วงที่เป็นสีแดงอยู่บริเวณภาคกลาง ผ่านไป 20 ปี พ.ศ.2578 สีแดงเพิ่มขึ้นในภาคเหนือตอนล่าง และถ้าไม่มีปัจจัยอะไรเปลี่ยนแปลง อีก 40 ปี หรือ 2598 อุณหภูมิเฉลี่ยจะเป็นสีแดง คือสูงเกิด 28.7 องศาฯ เกือบทุกภาคในประเทศไทย เราคาดไว้ว่าน่าจะ 2 องศาฯ แต่ถ้าเลวร้ายสุดก็จะสูงถึง 4 องศาฯ โดยเฉพาะแถบ จ.บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ ปราจีนบุรี มีแนวโน้มจะร้อนมากกว่าพื้นที่อื่น หากเป็นแบบนั้นจริงสภาพแวดล้อมและมนุษย์จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง”
หลายคนสงสัยว่า อากาศเพิ่มหรือลดเพียงแค่ 2 องศาฯ ทำไมส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงกับสิ่งแวดล้อมมากมาย?
“สังเกตง่ายๆ ว่า ปีก่อนๆ เวลาอาบน้ำตอนกลางวัน น้ำจากฝักบัวช่วงแรกจะร้อนหรืออุ่นสักพัก หากอาบน้ำช่วงเย็นจะไม่มีน้ำอุ่นออกมา ปีนี้แม้อาบน้ำช่วงเย็นหลังเลิกงานก็รู้สึกได้ในหลายจังหวัดว่า น้ำจากฝักบัวยังอุ่นหรือร้อน นั่นคือความร้อนที่สะสมในสภาพแวดล้อมมากกว่าเดิม ยิ่งร้อนมากก็ยิ่งใช้เวลาในการคลายความร้อนมากขึ้น”
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศในหลายด้าน เช่น การจัดการน้ำ การท่องเที่ยว การเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร สาธารณสุข การตั้งถิ่นฐาน ระบบนิเวศ โดยเฉพาะในด้านที่จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน 3 ด้าน ได้แก่
“วิกฤติน้ำกินน้ำใช้” อุณหภูมิสูงขึ้นทำให้น้ำที่มีอยู่ในธรรมชาติน้อยลง หลายพื้นที่จะขาดแคลนน้ำในธรรมชาติอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อน ต้องมีการจัดสรรทรัพยากรน้ำในรูปแบบใหม่ “2 ความมั่นคงทางอาหาร” พันธุ์พืชหลายชนิดไม่สามารถปลูกได้อีกต่อไป แม้แต่ข้าวบางสายพันธุ์ที่ต้องใช้น้ำมากก็จะปลูกไม่ได้ ผักที่ไม่ชอบอากาศร้อนจัดก็มีหลายชนิด แม้แต่การเลี้ยงปศุสัตว์อาจต้องเปลี่ยนลักษณะของฟาร์มหมู เล้าไก่ ฯลฯ ให้รองรับภาวะอากาศร้อน
“ สุขภาพของมนุษย์” เมื่อร้อนจัดความชื้นในอากาศน้อยลง ผู้สูงอายุหรือผู้ที่ร่างกายอ่อนแอจะรู้สึกไม่สบายได้ง่าย โรคเกี่ยวกับแดดหรืออากาศร้อนจะมีมากขึ้น ประเมินกันว่า ถ้าสถานการณ์แย่สุด ร้อนขึ้นถึง 4 องศาฯ หมายความว่าตารางชีวิตประจำวันของคนไทยอาจต้องเปลี่ยนไป เช่น ช่วงพักกลางวันต้องยาวขึ้น อากาศแต่ละวันร้อนสุดประมาณ เที่ยงถึงบ่าย 2 หมายความว่าอาจต้องเพิ่มเวลาพักเที่ยงเป็น 2 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้ต้องทำงานใต้แดดแรงจัด หรือด้านธุรกิจท่องเที่ยว จากเดิมร้านค้า พิพิธภัณฑ์ วัดวาอารามปกติเปิดให้นักท่องเที่ยงเข้าชมตั้งแต่เช้าถึง 5-6 โมงเย็น อาจต้องปรับเวลาเป็นเปิดช่วงบ่ายถึงกลางคืนแทน เพราะกลางวันนักท่องเที่ยวจะไม่ออกมาข้างนอก”
เพราะฉะนั้น คนไทยต้องลดการใช้พลังงานไม่สะอาด เช่น ลดการเชื้อเพลิงในการเดินทาง ลดการเผาไหม้ในพื้นที่ทำเกษตรกรรม และเพิ่มการปลูกป่ารวมถึงการใช้พลังงานสะอาดแทนพลังงานถ่านหิน
หากคนไทยไม่ร่วมมือกันทำวันนี้ อีก 40 ปีข้างหน้าพวกเราอาจได้เปลี่ยนเวลาทำงานจากกลางวันเป็นกลางคืน !
ที่มา komchadluek