“ทนายคู่ใจ” บอก ปชช. มีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์การทำงาน “ตำรวจ” ได้

จากประเด็นที่ตกเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์และให้ความสนใจถึงกรณีคดี กลุ่มวัยรุ่น 7 คน รุมทำร้ายชายพิการจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต บริเวณซอยโชคชัย4 ประเด็นที่ทำให้ชาวโซเชียลแสดงความคิดเห็นกันจำนวนมาก และเป็นกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แจ้งข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน กับผู้ต้องหา

1463534535088_7504

ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 59 ในเพจเฟซบุ๊ก “ทนายคู่ใจ” ได้ออกมาโพสต์ข้อความด้านกฎหมาย เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว หลังมีหลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยข้อความระบุว่า …

จากประเด็นร้อนที่ทางตำรวจจะแจ้งจับคนโพสด่าตำรวจ “พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รรท.ผบช.น. กล่าวถึงกรณีมีผู้แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ ตำรวจ กรณีไม่แจ้งข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนกับวัยรุ่น 7 คน ที่ก่อเหตุรุมทำร้ายร่างกายพ่อค้าขายขนมปังขาพิการจนถึงแก่ความตาย ซึ่งตนอาจจะต้องพิจารณาบุคคลที่โพสต์แสดงความคิดเห็นคดีดังกล่าว โดยบางคนโพสต์แสดงความคิดเห็นโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงทั้งหมด จึงอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะเข้าข่ายความผิดหมิ่นเจ้าพนักงานหรือไม่”

เป็นเสมือนการปิดปากข่มขู่ประชาชนที่มีสิทธิจะรับรู้กระบวนการยุติธรรมของหน่วยงานรัฐที่กินเงินเดือนภาษีประชาชนว่าคดีที่สังคมสนใจนั้นจะได้รับความเป็นธรรมแค่ไหนเพียงใด อีกทั้งผู้ต้องหายังเป็นลูกของตำรวจด้วยกันเองยิ่งเป็นสิ่งที่สังคมประนามกันหนักขึ้นไปอีก คำถามที่น่าสนใจว่าสิทธิการวิพากย์การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐของประชาชนหายไปตั้งแต่เมื่อไร แม้รัฐธรรมนูญจะถูกฉีกไปก็ตามแต่นั้นไม่ได้หมายความว่าสิทธิขั้นพื้นฐานในแง่การแสดงความคิดเห็นจะเป็นเรื่องต้องห้ามทั้งหมดนะเพราะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 4 ที่ใช้กันอยู่ก็ยังรับรองสิทธิต่างๆไม่ว่าจะเป็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับการคุ้มครองตามประเพณีการปกครอง ประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีระหว่าง ประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครอง

ซึ่งแน่นอนแม้จะอยู่ในสภาวะสถานการณ์พิเศษแต่สิทธิทางกฎหมายเราก็ยังอยู่ครบตราบเท่าที่ไม่ได้ไปยุ่งการเมือง ซึ่งคำถามคือการวิพากย์การทำงานของตำรวจมันไปยุ่งการเมืองตรงไหน เมื่อคนเขาถามหาความยุติธรรมให้คนตายเท่านั้นเอง แน่นอนอาจจะมีคนไม่พอใจบ้างตามประสาชาวบ้าน เขาก็ต้องแสดงออกในมุมของเขาที่เขาสามารถคิด พิมพ์ เขียน พูด หรือแม้แต่การโพสลงโซเซียลเพื่อแสดงออกให้เห็นว่าเรื่องนี้ ตัวเขารับไม่ได้นะกับสิ่งที่ตำรวจทำ เขาอาจจะแสดงความคิดในมุมของนักกฎหมายหรือนักวิชาการไม่ได้แต่ไม่ได้แปลว่าเขาไม่มีสิทธิพูดถึงเรื่องนี้เลย

วันนี้ผมค่อนข้างผิดหวังที่ทางตำรวจออกมาแถลงข่าวว่าจะดำเนินคดีกับผู้ที่โพสวิพากย์ตำรวจด้วยข้อหา “หมิ่นประมาท” ซึ่งแน่นอนผมบอกเลยว่าสุดท้ายคงพ่วง พรบ.คอมพิวเตอร์ที่มีโทษจำคุก 5 ปีมาด้วยแน่ๆ แต่ในกฎหมายหมิ่นประมาทบ้านเราในเรื่องที่เป็นการวิพากย์การทำงานสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่รัฐมีกรณีที่ศาลฎีกายกฟ้องคนวิพากย์มาแล้ว เป็นกรณีเดียวกันในลักษณะที่ทางตำรวจจ้องจะจับนี่เลยครับ ศาลให้เหตุว่าเป็นการวิพากย์ไปตามข้อเท็จจริงที่เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนมาโดยสุจริตทั้งสิ้น เห็นไหมครับการวิพากย์การสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้นะครับ

อ้างอิงฎีกาที่ 3546/2558
เมื่อจำเลยทั้งสองในฐานะสื่อมวลชนมีหน้าที่เสนอข่าวสารที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองให้ประชาชนทราบโดยเสนอข้อมูลไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องสืบสวนและสอบสวนได้ความ หาใช่เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองสร้างขึ้นมาเองไม่ แม้ข้อความบางส่วนอาจทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดด้วยอันเป็นการใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย โดยที่โจทก์ยังมิได้ถูกเรียกไปแจ้งข้อกล่าวหาหรือดำเนินคดี แต่การดำเนินคดีก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานผู้เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการได้ภายในกำหนดอายุความ ทั้งการนำเสนอข่าวสารเชิงวิเคราะห์ของจำเลยทั้งสอง ก็เป็นการติชมวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความคิดเห็นไปตามข้อเท็จจริงที่ได้ความมาจากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องโดยสุจริตและติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท พิพากษายกฟ้อง

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก : เพจ “ทนายคู่ใจ”