สาธารณสุขเตือน! ใช้มือปั้นข้าวเหนียว เสี่ยงรับเชื้อท้องร่วง

YanroZr4

นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากรายงานพื้นที่ประสบภัยแล้งใน 12 จังหวัด 46 อำเภอ 1,893 หมู่บ้าน ส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคเหนือและอีสานนั้น ค่อนข้างน่าเป็นห่วง โดยในแง่สุขภาพหน้าแล้งมักพบโรคอุจจาระร่วงได้บ่อย สาเหตุเกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้ออี.โคไล (E.Coli) ทำให้มีอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำ ซึ่งแต่ละปีมีผู้ป่วยประมาณ 1 ล้านคน และปัจจุบันมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม รายงานจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-23 ก.พ.2559 พบผู้ป่วยอุจจาระร่วง 153,098 ราย เสียชีวิต 2 ราย โดยภาคเหนือป่วยมากสุดอัตรา326 ต่อแสนประชากร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 259 ต่อแสนประชากร ภาคใต้และภาคกลางภาคละ 183 ต่อแสนประชากร

“เชื้ออี.โคไล เป็นเชื้แบคทีเรียในปัสสาวะการใช้ห้องน้ำ ห้องส้วมจึงมีโอกาสได้รับเชื้อมากที่สุด ดังนั้นหลังเข้าห้องน้ำต้องล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง แม้ในช่วงนี้บางพื้นที่จะประสบภัยแล้ง มีข้อจำกัดน้ำใช้ก็ตาม เพราะใช้น้ำไม่มาก แต่ถ้ามีอุจจาระติดมือมา จะมีเชื้อโรคติดมาด้วย จากข้อมูลทางวิชาการ พบว่าในอุจจาระ 1 กรัม จะมีเชื้อแบคทีเรีย 1 ล้านตัว และมีเชื้อไวรัสมากถึง 10 ล้านตัว” นพ.บุญเรือง กล่าว

อีกทั้งผู้ที่รับประทานข้าวเหนียวซึ่งมักจะใช้มือหยิบหรือจกข้าว ปั้นเป็นก้อน เพื่อจิ้มกับกับข้าว มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อโรคที่ติดมากับมือจึงขอให้ระมัดระวังเป็นกรณีพิเศษ ดูแลความสะอาดเล็บมือและตัดให้สั้น ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร การล้างมือฟอกสบู่ 15 วินาที จะขจัดเชื้อโรคออกไปได้ร้อยละ 90 แต่ถ้าป่วย จะเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยนอกเฉลี่ย 452 บาท เบื้องต้น สบส.ได้ให้อาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.) ให้ความรู้ประชาชนเรื่องโรคอุจจาระร่วงถี่ขึ้นด้วย