พ่อแม่มึนตึบ!! ไอเดียผู้ตรวจการแผ่นดิน จบ ป.6 เกรดต่ำกว่า 2.5 ต้องจ่ายค่าเทอม ม.1 เอง

23-16

นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า กรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้จัดทำข้อเสนอในการแก้ปัญหานโยบายการศึกษา ปัญหาโครงสร้างการศึกษา ระบบจัดการศึกษา รวมถึงปัญหาคุณภาพผู้เรียน โดยเสนอให้จัดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ถึงชั้น ป.6 โดยแยกสายสามัญ และสายอาชีวะตั้งแต่ชั้น ม.1 และเสนอให้ตั้งสถาบันครูศึกษา เพิ่มประสิทธิภาพ และผลิตครูที่มีศักยภาพสูง พร้อมทั้งรับประกันเงินเดือนครูต้องไม่ต่ำกว่าแพทย์ โดยขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในการผ่านร่าง พ.ร.บ.การศึกษา 15 ฉบับ โดยไม่ต้องผ่านที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า ข้อเสนอทั้งหมด คิดมาตั้งแต่ปี 2552 เพราะเห็นว่าการศึกษาไทยเป็นปัญหา และด้อยคุณภาพ กระทั่งพิสูจน์ได้แล้วว่าทุกวันนี้เราสู้ใครไม่ได้เลย แม้จะลงทุนด้านการศึกษามากที่สุดประเทศหนึ่ง ก็ยังเป็นรองประเทศอื่น โดยเฉพาะในประเทศอาเซียน ไทยอยู่ในอันดับท้ายๆ ส่วนข้อเสนอให้จัดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ถึงชั้น ป.6 แยกสายสามัญกับสายอาชีวะ ตั้งแต่ชั้น ม.1 เพราะข้อมูลการศึกษาด้านจิตวิทยาพบว่าเด็กจะรับรู้ และเรียนรู้ได้มากที่สุดในชีวิต คือช่วงอายุ 1-6 ขวบ ดังนั้น หากอยากให้เด็กเรียนรู้ทักษะอะไร ก็ต้องใส่เข้าไปในช่วงนี้ แต่ที่ผ่านมาไม่ใช่ เราเริ่มการศึกษาภาคบังคับตอน 7 ขวบ ซึ่งไม่ทันการเรียนรู้ จึงคิดใหม่ว่าแทนที่จะให้เด็กนั่งเล่นอยู่บ้าน ก็ให้เข้าเรียนตั้งแต่ 3 ขวบ ส่วนเด็กอายุ 1-2 ขวบ ผู้ปกครองอาจส่งเข้าศูนย์ดูแลเด็กซึ่งท้องถิ่นจัดขึ้น

“ที่ยังคงให้ การศึกษาภาคบังคับอยู่แค่ 9 ปี เพราะไม่เห็นประโยชน์ที่จะเพิ่มเป็น 12 ปี หากเพิ่มถึง ม.6 รัฐจะต้องใส่งบประมาณเข้าไปมากขึ้น ขณะที่คุณภาพของการศึกษาไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนปีของการศึกษาภาคบังคับ แต่ขึ้นอยู่กับเราจะสอนอะไรต่างหาก ส่วนที่เสนอให้การศึกษาภาคบังคับอยู่แค่ ป.6 จะผลักเด็กออกจากระบบการศึกษาหรือไม่ เพราะผู้ปกครองที่ฐานะไม่ดี อาจให้ลูกออกไปช่วยทำงาน เพราะกฎหมายไม่บังคับนั้น ไม่คิดเช่นนั้น เมื่อเด็กเรียนถึง ป.6 จะต้องเรียนต่อเนื่อง ซึ่งก็อยู่ที่ผู้ปกครองจะเลือก และที่อยากให้แยกสายสามัญกับสายอาชีวะตั้งแต่ ม.1 เพื่อให้เตรียมตัวว่าจะเลือกเรียนสายไหน แต่ยังคงเรียนวิชาการควบคู่ไปด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้เรียนสายสามัญไปเรื่อยๆ สุดท้ายเข้ามหาวิทยาลัย และจบมาแล้วตกงานเป็นปัญหา อย่างไรก็ตาม ยังเปิดโอกาสให้คนที่เลือกเรียนสายอาชีพ หากต้องการเรียนแพทย์ หรือวิศวกรรมศาสตร์ ก็สามารถสอบเข้าเรียนได้เช่นกัน” นายศรีราชากล่าว

นายศรีราชา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดให้เด็กที่เรียนจบชั้น ป.6 แต่เกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.5 เมื่อเข้าเรียนชั้น ม.1 จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด หากไม่มีเงินจะต้องกู้ยืมจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่ทำแบบนี้เพื่อให้เด็กตั้งใจเรียน ทำคะแนนให้ดี จูงใจให้ผู้ปกครอง และเด็กมีความรับผิดชอบต่อตัวเองตั้งแต่ระดับประถมศึกษา สนใจเรียน รู้จักคุณค่าของงบฯ ที่รัฐใช้เพื่อการศึกษา ไม่ใช่เรียนโดยไม่มีเป้าหมาย โดยข้อเสนอนี้อาจมีหลายฝ่ายไม่เห็นด้วย จึงต้องทำวิจัยเพื่อหาข้อมูลที่ชัดเจน หากจะเสนอให้รัฐดำเนินการจริงๆ

“ข้อ เสนอของผู้ตรวจการแผ่นดินทั้งหมด ไม่ถือว่าใจร้ายเกินไป เพราะหลายประเทศทั้งสิงคโปร์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย ก็ทำแบบนี้ จึงต้องตั้งคำถามว่าเราอยากให้เด็กของเราเท่าเทียม หรือด้อยกว่าเขา เพราะทั้งหมดขึ้นอยู่กับการเตรียมตัว การเรียนไม่ฟรีจะเป็นแรงบีบให้ผู้ปกครอง และเด็กได้เตรียมตัว ไม่ใช่ปรนเปรอจนเกินความต้องการ ส่วนที่เสนอให้เพิ่มเงินเดือนครูให้เท่ากับแพทย์นั้น หลายฝ่ายเข้าใจผิด ที่เสนอไม่ได้เพิ่มเฉพาะเงินเท่านั้น แต่ตัวครูต้องเพิ่มคุณภาพ ต่อไปครูต้องจบปริญญาโท และไม่ใช่ครูคนเดียวจะสอนทุกวิชา ต้องเป็นครูที่เชี่ยวชาญในแต่ละวิชามาสอบเด็ก โดยวันที่ 2 พฤษภาคม จะนำข้อเสนอดังกล่าวเสนอสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) พิจารณา ก่อนเสนอให้รัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการ ศธ.นำไปปรับใช้” นายศรีราชากล่าว